เมนู

บัญญัติ เหล่านี้แล ไม่ถูกทอดทิ้งแล้ว ยังไม่เคยถูกทอดทิ้ง ย่อมไม่ถูก
ทอดทิ้ง จักไม่ถูกทอดทิ้ง อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูชนไม่คัดค้านแล้ว.
[137] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ชนชาวอุกกลชนบท กับชนชาว
วัสสโคตรภัญญโคตรทั้งสองนั้น ล้วนพูดว่าไม่มีเหตุ บุญบาปที่ทำไปแล้ว
ไม่เป็นอันทำ ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล ก็ได้สำคัญวิถีทาง 3 ประการนี้
คือ หลักภาษา การตั้งชื่อ และข้อบัญญัติว่า ไม่ควรติ ไม่ควรคัดค้าน
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะกลัวถูกนินทา กลัวกระทบกระทั่ง
กลัวใส่โทษ และกลัวจะต่อความยาว.
จบ นิรุตติปถสูตรที่ 10
จบ อุปายวรรคที่ 1

อรรถกถานิรุตติปถสูตรที่ 10



ในนิรุตติปถสูตรที่ 10 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
ภาษานั่นแหละ ชื่อว่า ทางภาษา อีกอย่างหนึ่ง ภาษานั้น ๆ ด้วย
ชื่อว่า ปถะ เพราะเป็นทางแห่งเนื้อความที่พึงรู้แจ้งด้วยอำนาจภาษาด้วย
เหตุนั้นจึงชื่อว่า นิรุตติปถะ. แม้ในสองบทที่เหลือก็นัยนี้แหละ. อนึ่ง
บททั้งสามเหล่านี้ พึงทราบว่าเป็นไวพจน์ของกันและกันทั้งนั้น.
บทว่า อสงฺกิณฺณา ความว่า ไม่ถูกทอดทิ้ง คือไม่ถูกกล่าวว่า จะเป็น
ประโยชน์อะไรด้วยทางเหล่านี้ แล้วทิ้งเสีย. บทว่า อสงฺกิณฺณปุพฺพา
ความว่า ไม่เคยถูกทอดทิ้งแม้ในอดีต. บทว่า น สงฺกิยนฺติ ความว่า
แม้ในบัดนี้ก็ไม่ถูกทอดทิ้งว่า ประโยชน์อะไรด้วยทางเหล่านี้. บทว่า
น สงฺกิยิสฺสนฺติ ความว่า แม้ในอนาคตก็จักไม่ถูกทอดทิ้ง. บทว่า
อปฺปฏิกุฏฺฐา ได้แก่ไม่ห้ามแล้ว. บทว่า อตีตํ ได้แก่ก้าวล่วงสภาวะของตน

หรือภวังคจิตนั่นแหละ. บทว่า นิรุทฺธํ ความว่า ไม่ล่วงเลยส่วนอื่น
ดับคือเข้าไปสงบในที่นั้นเอง. บทว่า วิปริณตํ ได้แก่ถึงความแปรปรวน
คือพินาศไป. บทว่า อชาตํ แปลว่า ไม่เกิดขึ้น. บทว่า อปาตุภูตํ ได้แก่
ไม่ตั้งอยู่โดยปรกติ.
บทว่า อุกฺกลา ได้แก่ผู้อยู่ในอุกกลชนบท. บทว่า วสฺสภญฺญา
ได้แก่วัสสโคตรและภัญญโคตร. ชนทั้งสองพวกนั้นยึดถือทิฏฐิเป็นมูล.
ในบทว่า อเหตุกวาทา เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ ชื่อว่า อเหตุกวาทา
เพราะถือว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี ชื่อว่า อกิริยวาทา เพราะถือว่า
เมื่อบุคคลทำ บาปชื่อว่าไม่เป็นอันทำ เป็นต้น ชื่อว่า นัตถิกวาทา
เพราะถือว่า ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล เป็นต้น. ในข้อนั้น มีชนอยู่ 2 พวก
มีทิฏฐิอยู่ 3 อย่าง แต่มิใช่พวกหนึ่ง ๆ มีทิฏฐิ พวกละทิฏฐิครึ่ง ในข้อนี้
พวกหนึ่ง ๆ พึงทราบว่า ทำทิฏฐิทั้งสามให้เกิด เหมือนภิกษุรูปหนึ่ง
ทำฌานทั้ง 4 ให้เกิดขึ้นตามลำดับ. เมื่อบุคคลรำพึงยินดีเพลิดเพลินอยู่
บ่อย ๆ ว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี ความเห็นของเขาย่อมเป็นเหมือนยินดี
ในฌาน เหมือนมรรคทัสสนะ เขาหยั่งลงสู่ความกำหนดว่าเป็น
มิจฉาทิฏฐิ. เขาถูกเรียกว่าเป็นผู้มีธรรมฝ่ายดำอย่างแท้จริง. ในฐานะ
แม้เหล่านี้ คือเมื่อบุคคลทำ บาปไม่ชื่อว่าเป็นอันทำ ทานที่ให้แล้ว
ย่อมไม่มีผล มิจฉาทิฏฐิกบุคคลย่อมหยั่งลงสู่ความกำหนดว่าเป็น
มิจฉาทิฏฐิ เหมือนหยั่งลงในอเหตุกทิฏฐิ ฉะนั้น.
ในคำว่า น ครหิตพฺพํ น ปฏิกฺโกสิตพฺพํ อมญฺญึสุ นี้มีวินิจฉัย
ดังต่อไปนี้ เมื่อบุคคลกล่าวว่าสิ่งที่ชื่อว่าอดีตก็คงเป็นอดีต สิ่งที่เป็น
อดีตนี้ เป็นอนาคตก็ได้ เป็นปัจจุบันก็ได้ ชื่อว่าย่อมติเตียน. ครั้นเห็นโทษ
ในทิฏฐินั้นแล้ว เมื่อจะกล่าวว่า ประโยชน์อะไรด้วยสิ่งที่เราติเตียนนี้

ชื่อว่าย่อมคัดค้าน. ก็พวกยึดถือทิฏฐิผู้ถูกเรียกว่าเป็นผู้มีธรรมฝ่ายดำ
อย่างแท้จริง แม้เหล่านั้นสำคัญทางภาษาเหล่านี้ว่าไม่ควรติเตียน
ไม่ควรคัดค้าน แต่กล่าวสิ่งที่เป็นอดีตว่าคงเป็นอดีต สิ่งที่เป็นอนาคตว่า
คงเป็นอนาคต สิ่งที่เป็นปัจจุบันว่าคงเป็นปัจจุบันอยู่นั่นเอง. บทว่า
นินฺทาพฺยาโรสอุปารมฺภภยา ความว่า เพราะกลัวแต่การนินทา เพราะ
กลัวแต่การเสียดสี เพราะกลัวแต่การใส่โทษ และเพราะกลัวแต่การ
ติเตียน จากสำนักของวิญญูชนทั้งหลาย. ในพระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสบัญญัติขันธ์ที่เป็นไปในภูมิ 4 ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ อรรถกถานิรุตติปถสูตรที่ 10
จบ อุปายวรรคที่ 1

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ


1. อุปายสูตร 2. พีชสูตร 3. อุทานสูตร 4. ปริวัฏฏสูตร
5. สัตตัฏฐานสูตร 6. พุทธสูตร 7. ปัญจวัคคิยสูตร 8. มหาลิสูตร
9. อาทิตตสูตร 10. นิรุตติปถสูตร.